สถิติที่น่าตกใจ คนไทยป่วย โรคซึมเศร้า 1.8% ของประชากร ทั้งประเทศ

งานประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติครั้งที่ 14 และการประชุมวิชาการสุขภาพจิตและจิตเวชเด็กครั้งที่ 12 ประจำปี 2558 ที่เพิ่งเสร็จสิ้นไปไม่นานมานี้ มีข้อมูลน่าสนใจว่า คนไทยป่วยทางจิตเพิ่มขึ้นจนน่าตกใจ
ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข บอกว่า ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา คนไทยเจ็บป่วยทางจิตเพิ่มขึ้น ตัว เลขการเข้ารักษาตัวทางด้านจิตเวชเพิ่มสูงถึง 1.5 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยโรคจิต ยังไม่รวมบางส่วนที่ไม่ยอมไปรับบริการการรักษา เพราะอายที่ต้องพบจิตแพทย์ และกลัวว่าจะต้องถูกตราหน้าว่าเป็น “คนบ้า” ที่ ผ่านมา กรมสุขภาพจิตได้พยายามสนับสนุนให้ผู้ป่วยทางจิตได้รับการรักษา เน้นการเข้าถึงบริการอย่างเท่าเทียม โดยการผลักดัน พ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ.2551 เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และให้ผู้ป่วยทางจิตสามารถที่จะอยู่ร่วมบ้าน ร่วมชุมชน

นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต บอกว่า สังคมไทยยังมีอคติต่อผู้มีปัญหาด้านสุขภาพจิต ขาดความรู้ความเข้าใจว่าสามารถรักษาหายได้ จากการทำงานที่ผ่านมา ความเข้าใจเรื่องโรคจิตเวชและสุขภาพจิตก็เริ่มดีขึ้นบ้าง มีโรงพยาบาลที่เปิดหอผู้ป่วยจิตเวช หรือเตียงฉุกเฉินผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดเพิ่มขึ้นเป็น 67% จากเดิมที่มีเพียง 58% ผู้ป่วยจิตเวชสามารถรับยารักษาต่อเนื่องได้ที่คลินิกจิตเวชในโรงพยาบาลชุมชน จากเดิม 17 แห่ง เป็น 94 แห่ง ตัวเลขของผู้ป่วยโรคจิตเภทเข้าถึงบริการรักษาเพิ่มขึ้นเป็น 42% โรคซึมเศร้า 38% และผู้ป่วยติดสารเสพติดที่ได้รับการรักษาและไม่กลับไปติดซ้ำเพิ่มขึ้นเป็น 80%
สิ่งสำคัญที่สุดในการทำงานด้านสุขภาพจิต นอกเหนือจากการรักษาแล้ว การทำให้ทุกคนมีศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นมนุษย์ ไม่ถูกลิดรอนสิทธิความเป็นมนุษย์ มีโอกาสได้ใช้ชีวิตทุกช่วงวัยอย่างมีคุณค่าและมีความสุขเป็นเรื่องสำคัญมาก

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้ข้อมูลว่า จากผลการสำรวจระบาดวิทยา สุขภาพจิตของคนไทยระดับชาติปี 2556 ซึ่งเป็นการสำรวจทุก 5 ปี เพื่อศึกษาความชุกและปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับโรคจิตเวชของคนไทย โดยใช้เครื่องมือและการดำเนินงานตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก ทำการสำรวจกลุ่มตัวอย่างประชากรไทยอายุ 18 ปีขึ้นไป ที่อาศัยอยู่ในครัวเรือนส่วนบุคคลอย่างน้อย 3 เดือนทั้งใน กทม.และต่างจังหวัด พบว่า ปัจจัยหลักที่ทำให้คนไทยมีปัญหาด้านสุขภาพจิตมากที่สุด คือ สุรา ที่พบสูงถึง 9.3 ล้านคน หรือประมาณ 18% ของประชากรทั้งประเทศ รองลงมาคือ ภาวะติดบุหรี่ 14.9% หรือ 7.7 ล้านคน การใช้สารเสพติด 2.1 ล้านคน หรือ 4.1% ของประชากร ตามด้วยอาการในกลุ่มโรควิตกกังวลอีกราว 1.6 ล้านคน หรือประมาณ 3.1% ของประชากรทั้งประเทศ
คุณหมอพรรณพิมล บอกว่า นอกจากนี้ ยังมีตัวเลขคนไทย ที่มีภาวะของโรคซึมเศร้าตลอดช่วงชีวิตถึง 900,000 คน หรือประมาณ 1.8% ของประชากรทั้งประเทศ และปัญหาการฆ่าตัวตายประมาณ 3.5% ของประชากร หรือราว 1.8 ล้านคน ส่วนที่เหลือก็เป็นอาการทางจิตหลงผิด และติดการพนัน รวมถึงภาวะสะเทือนขวัญหลังเผชิญเหตุการณ์ รุนแรง (PTSD) อีกประมาณ 5 แสนคน
สำหรับโรคจิตเวช คือ กลุ่มอาการทางจิตใจหรือพฤติกรรมที่ทำให้บุคคลนั้นเกิดความทุกข์ทรมานหรือ บกพร่องในกิจวัตรต่างๆ ซึ่งต่างจากปัญหาสุขภาพจิต คนที่มีปัญหาสุขภาพจิตอาจจะไม่ได้ป่วยทางจิต แต่คนที่ป่วยทางจิต มักเป็นคนที่มีปัญหาสุขภาพจิตมาก่อน
โรคทางจิตเวชที่พบบ่อยในคนไทย ได้แก่ โรคจิตเภท, โรคซึมเศร้า ซึ่งมีทั้งภาวะจิตเศร้าและการป่วยเป็นโรคซึมเศร้า, โรคอารมณ์สองขั้ว หรือ ไบโพลาร์, โรควิตกกังวล โรคออทิสติก, ความผิดปกติที่เกิดจากการใช้สารเสพติด และโรคสมองเสื่อม ซึ่งแบ่งเป็นหลาย ชนิด รวมทั้งอัลไซเมอร์ด้วย
นอกจากการรักษาด้วยยาแล้ว ครอบครัว ชุมชน และสังคม มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการดูแลผู้ป่วยจิตเวช สำคัญที่สุดคือการไม่ขาดยา ส่วนผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตควรที่จะลดความเสี่ยงที่เป็นปัจจัยนำไปสู่ภาวะ ป่วยทางจิตได้
ปัญหาสุขภาพจิตสามารถที่จะป้องกันได้…และอาการป่วยทางจิตก็สามารถที่จะรักษาได้อยู่ที่ตัวเราเอง ครอบครัว และสังคมต้องช่วยกันเยียวยา

ที่มา : เว็บไซต์กรมสุขภาพจิต

Comments

Popular posts from this blog

สบู่ที่เราใช้ในทุกวันนี้ มีกี่ชนิด ?

หัวใจแตงโม นวัตกรรมแหวกแนว กล้าที่จะทำให้แตกต่าง

numkhao DAY&NIGHT ANTI-AGING AND BRIGHTENING INTENSIVE GEL