เกมออนไลน์-โซเชียลมีเดีย` จะวัยไหนก็ `ติด`

เกมออนไลน์-โซเชียลมีเดีย กลายเป็นเรื่องที่คุ้นหูชินตาไปแล้ว ยิ่งปัจจุบันสังคมเปิดกว้างขึ้น ประกอบกับเทคโนโลยีก็ก้าวล้ำไปมาก มองไปทางไหนก็มีแต่คนใช้ "แท็บเลต-สมาร์ทโฟน" จนกลายเป็น "สังคมก้มหน้า" ดังที่ใครหลายคนเรียกกัน ที่น่าสนใจ..ไม่ได้มีแค่กลุ่มวัยรุ่น เท่านั้นที่ติดสิ่งเหล่านี้อย่างงอมแงม เพราะแม้ผู้ใหญ่หรือ ผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยก็ติดด้วยเช่นกัน


ที่ผ่านมาเด็กๆ มักถูกพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่เตือนเสมอว่า "ห้ามเล่นเกม-อย่าติดเกม" มองเกมเป็นเหมือนปีศาจร้าย ใครจะเชื่อว่าในยุคนี้โลกจะ "กลับตาลปัตร" กลายเป็นว่าตัวผู้ใหญ่เองที่ติดโซเชียลมีเดีย-ติดเกมมากขึ้น และหลายราย "อาการหนัก" เล่นจนไม่หลับไม่นอนบ้าง หรือเล่นในเวลางานจนหน้าที่ของตนเสียหายบ้างก็มีมาแล้ว
 

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ให้ความเห็นถึงเรื่องนี้ว่า โซเชียลมีเดียเป็นสื่อที่มีความหลากหลายของช่องทางการติดต่อสื่อสาร และ มีความน่าสนใจค่อนข้างมาก ซึ่งเข้ากับบุคลิกของคนไทยส่วนใหญ่ ที่ "ชอบอยู่กับสังคม" จึงเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่สามารถติดต่อสื่อสารแม้ไม่ได้อยู่ใกล้กันก็ตาม ต่างกับสังคมตะวันตกที่ผู้คนมักชอบมี "พื้นที่ส่วนตัว" มากกว่าส่วนคำถามที่ว่า เหตุใดในอดีตผู้ใหญ่มักจะเตือนเด็กเสมอว่าไม่ควรเล่นเกม แต่ปัจจุบันกลับเป็นตัวผู้ใหญ่เองที่ติดเกมหรือโซเชียลมีเดียนั้น นพ.ทวีศิลป์ อธิบายว่า เนื่องจากสื่อทุกวันนี้เปิดกว้างมากขึ้น ผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุที่ไม่ได้มี ภาระหน้าที่ใดๆ ก็เลือกที่จะหาสิ่งใหม่ๆ เพื่อคลายเหงาหรือคลายเครียดได้

"จริงๆ แล้วของเล่นของผู้ใหญ่มีกันในทุกวัย แต่ก็มีหลายรูปแบบ เช่น เครื่องเสียงรถยนต์ จักรยานยนต์ ล้วนเป็นของเล่นของผู้ใหญ่ทั้งนั้น คนเรามันก็ต้องมีงานอดิเรกที่ แตกต่างกัน เนื่องจากว่าผู้ประดิษฐ์โทรศัพท์มือถือเนี่ย มันค่อนข้าง ที่จะให้เป็นอุปกรณ์หลากหลายอย่างอยู่ในมือของตัวเอง เพราะฉะนั้นยามว่างไม่มีอะไรทำ ทุกอย่างอยู่ในอุปกรณ์ที่ติดกาย ก็เลยกลายเป็นของที่สะดวกใช้มากกว่าอย่างอื่น" โฆษกกรมสุขภาพจิต กล่าว
แม้ปัญหาการติดเกม-ติดโซเชียลมีเดียนั้นเกิดได้กับ ทุกเพศทุกวัย แต่กลุ่มที่น่าเป็นห่วงก็คงยังเป็น "เด็ก-วัยรุ่น"โดย นพ.ทวีศิลป์ ให้เหตุผลว่า ส่วนใหญ่แล้วเด็กและวัยรุ่นจะมี วุฒิภาวะต่ำกว่าผู้ใหญ่ เนื่องจากไม่ได้มีภาระหน้าที่ต้องรับผิดชอบ หากติดไปแล้วจะรักษาได้มากกว่าผู้ใหญ่ที่มีภาระหน้าที่ต้องรับผิดชอบ อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นเด็ก วัยรุ่น หรือผู้ใหญ่ หากเป็นผู้ใช้สื่อออนไลน์ควรมีการวิเคราะห์ว่ามีผลกระทบกับตัวผู้ใช้เองมาก น้อยเพียงใด เพราะสิ่งที่อยู่บนโซเชียลมีเดียย่อมมีทั้งข้อดีและข้อเสีย
"พยายามหาหนทางที่จะให้เขาได้มีหนทางรับรู้ ว่าถ้าทำต่อไปมันจะมีผลกระทบระยะยาวอย่างไร จะเกิดการสร้างแรงจูงใจขึ้นมาก่อนที่จะเห็นปัญหาแล้วทำให้เขาเลิก พอมีความเห็นตรงกัน ว่ามันไม่ได้เป็นประโยชน์อย่างเดียวมันมีโทษด้วยเขาก็จะหาหนทางในการจัดการ ได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่เองประสบการณ์ค่อนข้างเยอะ" นพ.ทวีศิลป์ ให้คำแนะนำสำหรับผู้ที่เห็นคนใกล้ตัวมีอาการเข้าข่ายเสพติดสื่อออนไลน์

เช่นเดียวกับ ธาม เชื้อสถาปนศิริ นักวิชาการสถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ (สวส.) ที่กล่าวว่า เด็กและวัยรุ่นยังคงเป็นกลุ่มที่มีความยากในการแก้ปัญหาดังกล่าว เพราะยังไม่สามารถแยกแยะถูกผิดได้ ต่างจากกลุ่มผู้ใหญ่ที่เติบโตมาด้วยกระบวนการเลี้ยงโดยผ่านกฎระเบียบต่างๆ มามากมาย กลุ่มผู้ใหญ่จะเป็นกลุ่มที่รักษาได้ง่ายกว่า ถึงกระนั้นหากเป็นผู้ที่ติดเกมหรือโซเชียลมีเดียตั้งแต่วัยรุ่นจนลุกลามต่อ เนื่องไปถึงวัยผู้ใหญ่ ก็เป็นปัญหาที่แก้ยากพอสมควร
ส่วนประเด็นว่าเหตุใดจึงพบผู้ใหญ่ติดเกมหรือโซเชียล มีเดียมากขึ้น ธาม ให้เหตุผลว่า วัยผู้ใหญ่นั้นเป็น "วัยทำงาน" ที่เต็มไปด้วย "ความเร่งรีบ-ความเครียด-การอยู่ภายใต้คำสั่ง"ดังนั้นโลกออนไลน์จึงเปรียบ เสมือนโลกที่สามารถช่วย "ระบาย"และสร้างความบันเทิงให้กับคนวัยนี้ได้ เช่น เล่นเกมออนไลน์เพราะติดสังคมที่อยู่ในเกม และปัจจุบันมีการพัฒนาโซเชียล มีเดียเป็น "แอพพลิเคชั่น" ไว้บนมือถือ ทำให้เข้าถึงได้สะดวกยิ่งขึ้น

"เพราะเกมจะทำให้เขารู้สึกว่าเขาเป็นผู้ควบ คุม ในฐานะที่เป็นคนทำงานเขาจะเป็นผู้ถูกทำงานตามสั่ง เป็นลูกน้องที่ต้องทำตามผู้บังคับบัญชา แต่ถ้าเป็นในเกมเนี่ยเขาสามารถควบคุมได้ทุกอย่าง ถือว่าโทรศัพท์มือถือเป็นเหมือนศูนย์รวมเทคโนโลยี หรืออีกอย่างคือเขาได้สังคม เขาได้มีปฏิสัมพันธ์ เขาไม่รู้สึก โดดเดี่ยว" ธาม ระบุ
สำหรับบุตรหลานที่ห่วงใยพ่อแม่ญาติผู้ใหญ่ นักวิชาการด้านสื่อรายนี้ ให้คำแนะนำว่า ควรหาเวลาทำกิจกรรมร่วมกันเพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดี เพราะเอาเข้าจริงๆ แล้ว ไม่มีใครอยากอยู่กับ "โลกเสมือน" เช่นนี้ เพียงแต่คนที่ใช้ชีวิตอยู่กับสื่อออนไลน์ค่อนข้างมาก อาจจะรู้สึกว่าตนเอง "ถูกทอดทิ้ง"จึงต้องหาสิ่งอื่นมาคลายเหงา
"ควรใช้วิธีการล้อหลอกหรือดึงท่านมาพูดคุย ร่วมกิจกรรม ปกติคนสูงวัยหรือคนมีอายุหน่อยเขาจะอยากอยู่กับลูกกับหลาน ไม่ได้อยากอยู่กับโซเชียลมีเดียหรอก เพราะเขาถูกมันพัดพาไปจากสิ่งรอบข้าง เช่น ลูกหลานทอดทิ้ง หรือลูกหลานเอง นั้นแหละไม่สนใจ เล่นแต่โทรศัพท์มือถือ แชทกับคนอื่นตลอดเวลา เพราะฉะนั้นวิธีการก็คือดึงเขาไปทำกิจกรรมร่วมกันในวันหยุด กิจกรรมพักผ่อน กิจกรรมท่องเที่ยว พวกนี้สามารถช่วยได้

ที่สำคัญเกมออนไลน์สมัยนี้มันไม่ใช่แค่เกม แต่มีคำว่าออนไลน์มาเกี่ยวข้อง มันมีคำว่ามิจฉาชีพ ล่อหลอก โฆษณา เหยื่อของธุรกรรมทางการเงิน ล่อหลอกมากมาย เพราะฉะนั้นต้องวางกฎระเบียบ พูดคุยกันให้ดี เหมือนที่ผู้ใหญ่ทำกับเด็ก เป็นวิธีการที่ถูกต้องที่สุด"
ธาม ฝากทิ้งท้ายมีผู้กล่าวว่า "สังคมยุคนี้เป็นสังคมเหงา-สังคมตัวใครตัวมัน" จากชีวิตที่เร่งรีบแข่งขันจนเคร่งเครียด ทำให้ผู้คนไม่น้อยจากหลากหลายเพศและวัย หันหน้าเข้าสู่สังคมออนไลน์ที่เปรียบดัง "โลกแห่งความฝัน" สามารถเนรมิตตัวตนให้เป็นในสิ่งที่อยากเป็น ซึ่งไม่อาจเป็นได้ใน "โลกแห่งความจริง" จนนานเข้าก็เสพติดจนแยกแยะไม่ออก ไม่สามารถดึงจิตใจกลับมาสู่ความเป็นจริงได้ ซึ่งสิ่งที่จะ "เยียวยา" อาการเหล่านี้ได้ มีแต่ "สถาบันครอบครัว"เท่านั้น
ความใกล้ชิดและการดูแลคนในครอบครัวให้มีความอบอุ่น เป็นวิธีที่ดีที่จะไม่ทำให้เสพติดสื่อออนไลน์มากจนเกินไปไม่ว่าจะเป็นวัยใดก็ตาม

ที่มา : http://www.thaihealth.or.th




Comments

Popular posts from this blog

สบู่ที่เราใช้ในทุกวันนี้ มีกี่ชนิด ?

หัวใจแตงโม นวัตกรรมแหวกแนว กล้าที่จะทำให้แตกต่าง

numkhao DAY&NIGHT ANTI-AGING AND BRIGHTENING INTENSIVE GEL