“เมอร์ส vs ไข้หวัดใหญ่” เชื้อไวรัสคู่แฝดอันตราย
![]() |
“เมอร์ส vs ไข้หวัดใหญ่” เชื้อไวรัสคู่แฝดอันตราย ผู้ที่ติดเชื้อ “ไวรัสเมอร์ส” มักจะมีอาการคล้าย “โรคซารส์-ไข้หวัดใหญ่” เป็นไวรัสเหมือนกัน เพียงแต่ต่างชนิดกัน มีทั้งอาการไอ ไข้สูง น้ำมูกไหล หายใจลำบาก และมีต่อระบบทางเดินอาหาร
ยังอยู่ในความสนใจของคนทั่วโลก สำหรับเชื้อ “ไวรัสเมอร์ส” กรมควบคุมโรคจึงได้ออกประกาศ 2 ฉบับ และวาง 6 มาตรการ เพื่อใช้เป็นแนวทางป้องกันเชื้อระบาดในเบื้องต้น แต่หลายคนก็ยังหวาดกลัว ยิ่งช่วงนี้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างกระทันหัน เชื้อโรคหลายชนิดมักแพร่ระบาดได้ง่ายและรวดเร็ว กรมควบคุมโรค จึงออกมาเตือนเรื่อง “โรคไข้หวัดใหญ่” ซึ่งแยกความแตกต่างของอาการได้ยากมาก เมื่อเปรียบเทียบกับ “ไวรัสเมอร์ส”
นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อธิบายว่า อาการของผู้ที่ติดเชื้อไวรัสเมอร์ส มักจะมีความคล้ายโรคซารส์ โรคไข้หวัดใหญ่ แยกกันได้ยากมาก ซึ่งเป็นไวรัสเหมือนกัน เพียงแค่ต่างชนิดกัน จะมีทั้งอาการไอ มีไข้ น้ำมูกไหล หายใจลำบาก หรือหากเป็นหนัก จะมีผลต่อระบบทางเดินอาหาร คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง อุจจาระร่วง
“ต้นกำเนิดเชื้อไวรัสเมอร์สมาจากอูฐและค้างคาว ไม่มีทางทราบได้ว่าตัวเอง ติดเชื้อไวรัสเมอร์สหรือไม่ มีเพียงวิธีเดียวคือไปพบแพทย์ เพื่อตรวจทางห้องปฏิบัติการ หรือผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ระบาดของโรค แถบประเทศตะวันออกกลาง และสัมผัสกับอูฐหรือดื่มนมอูฐดิบ นั้นคือกลุ่มเสี่ยง ซึ่งเชื้อไวรัสเมอร์สจะชอบอากาศชื้น และจะตายภายใน 24-48 ชม.
อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุ จากข้อมูลองค์การอนามัยโลก วันที่ 16 มิ.ย.58 รายงานว่า รวมแล้วผู้ป่วยจากไวรัสเมอร์สมี 1,321 ราย เสียชีวิต 466 ราย ส่วนในประเทศเกาหลีใต้ พบผู้ป่วยแล้ว 149 ราย เสียชีวิต 15 ราย สำหรับ “โรคไข้หวัดใหญ่” จะพบมากช่วงอายุ 25-30 ปี
ซึ่งอัตราการเสียชีวิตมักพบในผู้ที่มีอายุมากขึ้น หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคปอด โรคตับ โรคไต การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ จึงเป็นวิธีที่ได้ผลดีที่สุด สามารถลดอัตราการติดเชื้อ ลดอัตราการนอนโรงพยาบาล ลดโรคแทรกซ้อน ลดการหยุดงานหรือหยุดเรียนจากข้อมูลสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่เดือนพ.ค. พบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ประมาณ 3,000-10,500 ราย/เดือน และจะสูงที่สุดในเดือนส.ค-ก.ย.58 ซึ่งจะมากกว่าในช่วงเวลาเดียวกันของ 5 ปีย้อนหลังเล็กน้อย โดยจังหวัดเสี่ยงต่อการระบาด ได้แก่ จังหวัดทางภาคเหนือ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล และจังหวัดใหญ่ที่มีประชากรเคลื่อนย้ายสูง เช่น นครราชสีมา เป็นต้น
นพ.โสภณ ระบุว่า ช่วงระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ เริ่มตั้งแต่ต้นฤดูฝน เดือน ก.ค.-ส.ค. และระบาดอีกครั้งช่วงฤดูหนาว เดือน พ.ย.-ธ.ค. สำหรับผู้ที่มีสุขภาพปกติดี หากป่วยด้วยอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ แล้วอาการไม่ดีขึ้นภายใน 2 วัน ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ สถานการณ์ในประเทศไทย วันที่ 18 มิ.ย.58 สธ.รายงานว่า พบผู้ป่วยโรคเมอร์ส 1 ราย เป็นชายชาวตะวันออกกลาง เดินทางมาจากประเทศที่มีการระบาด ขณะนี้ผู้ป่วยอาการทรงตัว และรับการรักษาอยู่ห้องแยกโรค ไม่ว่าจะเป็น “เชื้อไวรัสเมอร์ส” หรือ “เชื้อไข้หวัดใหญ่” ซึ่งไม่ว่าจะชนิดไหน ขึ้นชื่อว่า “โรค” คงไม่มีใครอยากเป็น รู้แบบนี้แล้ว ปฎิบัติตามแพทย์แนะนำ “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” จะได้ป้องกันไว้แต่เนิ่นๆ“
ที่มา : http://www.thaihealth.or.th
Comments
Post a Comment